ฟิวเจอร์ส

04 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​​​​​ฟิวเจอร์ส คือ อะไร 

ฟิวเจอร์ส (futures) เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีเงื่อนไขให้คู่สัญญาซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิง (underlying) ในอนาคต ตามเงื่อนไขที่กำหนดที่เป็นมาตรฐาน เช่น จำนวนสินค้า ประเภท คุณลักษณะของสินค้า สถานที่และวันที่ส่งหรือรับมอบ เป็นต้น โดยผู้ซื้อและผู้ขายฟิวเจอร์สต่างมีภาระผูกพันตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ อาทิ ยางแผ่นรมควัน ทองคำ หรือ เงินดอลลาร์

ส่วนการลงทุนใน futures ของ Index นั้น ผู้ลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะ "ซื้อก่อนขาย" หรือ "ขายก่อนซื้อ" ก็ได้ และกรณีลงทุนจนครบอายุสัญญาจะไม่มีการส่งมอบตราสารที่เป็นสินค้าอ้างอิงจริง แต่ใช้วิธีการชำระส่วนต่างของราคาซื้อขาย (cash settlement) กรณีที่ไม่ถือจนครบอายุสัญญาก็สามารถทำการซื้อขายสัญญาในทางตรงข้ามเพื่อปิดสถานะ (close position) หรือที่เรียกกันว่า การล้างสถานะ (offset) และคำนวณส่วนต่างของราคาซื้อขาย เพื่อชำระเงินได้ โดยกำไรที่ได้รับจากการซื้อขาย futures ได้รับยกเว้นภาษีด้วย (ศึกษารายละเอียดวิธีการซื้อขายได้ที่ www.tfex.co.th​)

ซึ่งในปัจจุบัน TFEX ได้เปิดซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ  

  • ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับตลาดทุน เช่น SET50 index futures (ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับดัชนี SET50) single stock futures (ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับหุ้นสามัญรายตัว)​
  • ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับตราสารหนี้ 
  • ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น gold futures (ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับราคาทองคำ)​
  • ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับดัชนีราคาอื่น ๆ เช่น gold-D (ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ 99.99%) 
  • ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับราคาสินค้าเกษตร เช่น  RSS3 futures (ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับยางแผ่นรวมความชั้น 3 (Natural Rubber Ribbed Smoked Sheet No.3: RSS3)​

(ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tfex.co.th)​


เราใช้ประโยชน์จากการลงทุนใน futures ได้อย่างไร?

เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนของเรา เช่น สมมติว่าเราซื้อหุ้น A ได้ในราคา 10 บาท ต่อมาผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น ราคาหุ้นจึงเพิ่มสูงขึ้นเป็น 12 บาท แต่เรายังไม่ต้องการขายหุ้นในตอนนี้ แต่เกรงว่าต่อไปราคาหุ้นจะลดลงในอนาคตจนอาจทำให้ต้องขายไปในราคาที่ขาดทุนได้ จึงจำกัดความเสี่ยงโดยทำการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ futures ของหุ้น A ที่ 12 บาทไว้ (เปิดสถานะ short position ในสัญญา futures) โดยสัญญาจะครบกำหนดอายุในอีก 3 เดือนข้างหน้า อีก 3 เดือนต่อมา ปรากฏว่ายอดส่งออกไปต่างประเทศของบริษัท A เกิดลดลงมาก ทำให้ราคาหุ้น A เหลือเพียง 8 บาท หากเราขายหุ้น A ก็จะทำให้ขาดทุนหุ้นละ 2 บาท แต่เนื่องจากเราได้ทำการขาย futures ของหุ้น A ไว้แล้วที่ราคา 12 บาท ดังนั้น เมื่อเข้าปิดสถานะ futures โดยทำการซื้อ futures ของหุ้น A ที่ราคา 8 บาท เราก็จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทน 4 บาท (ขายที่ 12 บาทแต่ซื้อกลับที่ 8 บาท) และเมื่อหักกลบลบหนี้กับการขาดทุนในราคาหุ้น (หุ้นละ 2 บาท) แล้ว ปรากฏว่าเรายังได้รับกำไรสุทธิ 2 บาท กล่าวคือ ในกรณีนี้ เมื่อเราได้ลงทุนในหุ้น A และบริหารความเสี่ยงโดยการขาย futures ของหุ้น A ด้วย เราจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทน 20% ไม่ว่าราคาหุ้น A จะเป็นเท่าไรก็ตาม เรียกว่าเป็นการล็อคผลตอบแทนไว้ล่วงหน้าเป็นเครื่องมือในการทำกำไร ที่ใช้เงินลงทุนขั้นต้นต่ำ แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตาม หากคาดการณ์ผิดก็ต้องได้รับผลขาดทุนสูงเช่นกัน เช่น 
หากเราคาดว่า SET 50 index จะปรับตัวลดลง เราก็ขาย SET50 index futures ที่ 500 จุด จำนวน 1 สัญญา วันถัดมา ราคา SET50 index futures ปรับตัวลดลงเป็น 490 จุด เราก็ตัดสินใจซื้อ SET50 index futures เพื่อปิดสถานะฟิวเจอร์สของตนเอง ดังนั้น เราจะได้กำไรเท่ากับ (500-490) x 1,000 = 10,000 บาท แต่หากเราคาดการณ์ผิด คือดัชนี SET 50 indexเพิ่มขึ้นเป็น 520 จุด เราก็จะขาดทุนเท่ากับ (500-520) x 1,000 = 20,000 บาท  

รู้ไว้ได้ประโยชน์
  • ​futures เป็นตราสารที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนมีโอกาสขาดทุนมากกว่าเงินลงทุนตั้งต้น หากคาดการณ์ไม่ถูกต้อง เนื่องจากฟิวเจอร์สมีผลผูกพันทั้งผู้ซื้อและผู้ขายให้ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่จะซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิงในราคาที่ตกลงกันไว้ ไม่ว่าราคาของสินค้าอ้างอิงในตลาดปัจจุบันในวันครบกำหนดสัญญาจะเป็นเท่าใด จึงทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีโอกาสที่จะกำไรหรือขาดทุนได้ไม่จำกัด หากราคาสินค้าอ้างอิงในตลาดปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันหรือตรงข้ามกับที่คาดการณ์ไว้ 
  • หากตัดสินใจพลาดพลั้งไป ต้องมีวินัย ต้องใจแข็งยอมหยุดผลขาดทุนโดยการทำสัญญาในทางตรงกันข้าม หรือปิดสถานะไปเสียก่อนที่จะเสียหายมากยิ่งขึ้น 
  • ​futures ประเภท single stock futures (SSF) ที่มีหุ้นเป็นสินค้าอ้างอิง (underlying) หากมีกรณีที่บริษัทมีการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น หรือการดำเนินการในลักษณะที่เรียกว่า corporate action ที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นอ้างอิง เช่น การเพิ่มทุนโดยให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อหุ้นใหม่ (right offering) การเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น (split / reverse split) การจ่ายปันผลเป็นหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้น (bonus issue) การจ่ายเงินปันผลพิเศษ (extraordinary dividend) เป็นต้น ก็อาจมีผลกระทบต่อราคาของ SSF ได้ แต่ TFEX ที่ทำหน้าที่ดูแลการซื้อขาย SSF ได้วางมาตรการรองรับในเรื่องนี้ไว้ เพื่อไม่ให้ผู้ถือ SSF ได้รับผลกระทบจากการเกิด corporate action เช่น การปรับเงื่อนไขของสัญญา ไม่ว่าจะเป็น ขนาดของสัญญา (contract size) ราคา (contract price) หรือ การปรับฐานะคงค้างของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (open position) เป็นต้น  (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.tfex.co.th

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง